รมว.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เปิดงาน Field Day เตรียมพร้อมสู่ฤดูการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจ ปี 2568 อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วันนี้(24 เม.ย.68) ที่อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนพิปูนสังฆรักษ์ประชาอุทิศ อำเภอพิปูน จ.นครศรีธรรมราช ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) กิจกรรมสำคัญในการช่วยเตรียมความพร้อมของเกษตรกรก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมบูรณาการการทำงานเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ให้มีการเรียนรู้ในการวางแผนการผลิต และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้มีการเรียนรู้ ในการวางแผนการผลิต และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต และการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างยิ่งในช่วงนี้ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ โดยเฉพาะทุเรียน ที่พื้นที่ภาคใต้ตอนบน เป็นการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ จำเป็นต้องส่งเสริมและสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP ซึ่งงานวัน Field Day จะช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตรที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ มุ่งเน้นการป้องกันการผลิตทุเรียน ด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรไปสู่สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร

ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-6 ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ร่วมกันจัดงาน Field day อย่างน้อย เขตละ 1 จุด โดยการจัดงานในครั้งนี้เป็น ครั้งที่ 2 ของภาคใต้ เป้าหมายเกษตรกรเข้าเรียนรู้ จำนวน 1,200 ราย มีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ที่ 1 ทุเรียน “นวัตกรรมเพื่ออนาคตของการผลิตทุเรียน ” “Next Tech : Future of Durian Innovation” และสถานีเรียนรู้ที่ 2 ปาล์มน้ำมัน “เส้นทางสีเขียวและความยั่งยืน : นวัตกรรม ปาล์มน้ำมันเพื่ออนาคต” “Road to Sustainability & Green : Palm Oil Innovations และกิจกรรมรอง ประกอบด้วย งานวิจัยและเทคโนโลยีจากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , งานวิจัยและเทคโนโลยี นวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาและเอกชน มีการสนับสนุนปัจจัย การผลิตให้แก่เกษตรกร อาทิเช่น พันธุ์พืช โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร สมุดบัญชี น้ำหมัก สารชีวภัณฑ์ เสบียงสัตว์ โค กระบือ พันธุ์ปลาน้ำจืด และต้นพันธุ์หม่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลดำเนินงานศูนย์บริการการเกษตรพิรุณราช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีการจัดตั้งศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ศูนย์บริการหลัก ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับกรม รวม 1,937 ศูนย์ โดยแบ่งการให้บริการเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 งานรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ส่วนที่ 2 รวมลิงค์งานบริการ (e-service) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเป็นช่องทางการเข้าถึงของผู้รับบริการ จำนวน 11 หน่วยงาน 22 แอปพลิเคชัน/ระบบงาน บริการ ปัจจุบันเกษตรกรแจ้งขอรับบริการสะสม จำนวน 18,869 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ สะสม จำนวน 18,617 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.66 อยู่ระหว่างดำเนินการสะสม จำนวน 47 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.25 ในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนในระยะถัดไป จะพัฒนาระบบให้บริการศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชฯ และการประชาสัมพันธ์การใช้บริการตามลำดับต่อไป

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้เพราะตนและผู้บริหารกระทรวงทั้งภาคการเมืองและข้าราชการระดับสูง คิดว่าการทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อยของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรเป็นภาระกิจหลักของพวกเรา ประชาชนเดือดร้อนก็เหมือนเราเดือดร้อน ซึ่งในภาคใต้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะยางพาราที่ได้รับผลกระทบมาจากโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้า ทำให้ราคายางพาราตกฮวบทันทีกว่า 10 บาท ตนได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง หามาตจรการช่วยเหลือชาวสวนยางจนในปัจจุบันราคากระเตื้องขึ้นจนเกือบเป็นปกติอีกสัก กก.ละ 4-5 บาทก็จะเป็นปกติแล้ว ส่วนเรื่องราคาปาล์มเราก็กำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่เช่นกันโยคณะกรรมการ ฯจะประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาต่อไป แต่ในภาคใต้ปัญหาหลักคือเรื่องราคายางพารา
ต่อข้อถามเรื่องปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่กำลังจะแพร่ระบาดเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา ความจริงภาคใต้ที่หนักที่สุดคือลุ่มน้ำปากพนัง เขต อ.ปากพนัง ต้องขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรีที่เห็นชอบอนุมัติงบประมาณตามวาระแห่งชาติลงมาแก้ไขปัญหากว่า 98 ล้านซึ่งทางกรมประมงระดมสรรพกำลังลงไล่ล่าจนสามารถหยุดการแพร่ระบาดจนพ้นวิกฤติแล้ว สามารถไล่ล่ากำจัดได้กว่า 1 ตันและยังทุ่มเทไล่ล่ากำจัดอยู่ในพื้นที่ อ.ปากพนัง พรุ่งนี้ทางอธิบดีกรมประมงจะลงไปตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติการด้วยตัวเอง และทางนายกรัฐฒนตรีท่านให้ความสำคัญในเรื่องนี้ส่างกำชับให้เร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ไพฑูรย์ อินทศิลา /นครศรีธรรมราช
24 เม.ย.2568